หนุน “ครูตู้” ลดช่องว่างการศึกษาไทย

By | March 11, 2014 | Tweet

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และยังมีพื้นที่ที่ห่างไกลเทคโนโลยีและโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น การแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาไทยถือเป็นสิ่งสำคัญ

นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เล่าว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู และปัญหาครูสอนไม่ตรงวิชาเอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาตรงจุดนี้อย่างมาก

sattlelite2

ภาพจาก guguygusky.blogspot.com

เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ. 2539 ทรงแก้ปัญหาการขาดแคลนครู โดยพระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท ตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น และทรงพระกรุณาพระราชทานตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ให้เป็นตราของมูลนิธิฯ จนถึงปัจจุบันรวม 17 ปีแล้ว

นายขวัญแก้ว เล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้” โดยถ่ายทอดการเรียนการสอนหลักสูตรขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวม 12 ช่อง 12 ชั้น โดยครูคนเดียวกันถ่ายทอดโดยตรงจากโรงเรียนวังไกลกังวลเพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่าง ๆ ที่ขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูประจำวิชา สามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการออกอากาศช่องการอาชีพ ช่องอุดมศึกษา และรายการนานาชาติอีกอย่างละ 1 ช่อง รวม 15 ช่อง ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านจาน KU Band หรือสมาชิก ทรูวิชั่นส์ และเมื่อเทคโนโล ยีมีการพัฒนา ปัจจุบันสามารถชมการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์ www.dlf.ac.th ในระบบอีเลิร์นนิ่งอีกทั้งยังสามารถรับชมรายการสด และรายการย้อนหลัง ผ่านอุปกรณ์พกพาทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอสเพียงดาวน์โหลด App ใน Play store และ App Store ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบชุดอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมและติดตั้งระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 35,215 โรงเรียน อีกทั้งยังมีโรงเรียนเอกชนติดต่อขอรับชุดอุปกรณ์ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า “ครูตู้” ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก

สำหรับความสำเร็จที่ผ่านมา เป็นที่น่าพอใจมาก มีสถิติสูงขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างนักเรียนโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 3,000 คน ศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ประมาณ 100 คน สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้ 98 คน

นายพันธ์ศักดิ์ สุเมธจรัส ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงข่าย สำนักปฏิบัติการ ทีโอที เล่าว่า นอกจากจะถวายเงินในโครงการแล้ว ยังสนับสนุนหมายเลขโทรศัพท์ฟรี และโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการจัดอบรมครูด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และสถานที่ตั้งสำนักงานโครงการโรงเรียนการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต และห้องปฏิบัติการโครงการ DLF อีเลิร์นนิ่ง เฉลิมพระเกียรติด้วย

“ปัจจุบัน ผู้บริหาร ทีโอที มองเห็นถึงความสำคัญ จึงเพิ่มความเร็วของช่องทางสื่อสาร เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารที่ต้องเผยแพร่การออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง จึงได้เพิ่มความเร็วเป็น 1,000 เมกะบิต และค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมเฉลี่ย 30 ล้านบาทต่อปี” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

นางสาวจินตนา วรรณยง ตัวอย่างนักเรียนที่ประสบความสำเร็จจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมรุ่นแรก เล่าว่า ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนจึงได้มีโอกาสมาถึงจุดนี้ จากลูกชาวนาธรรมดาคนหนึ่ง มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนให้โอกาสทางการศึกษาจนจบปริญญาโท และการอบรมภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ยืนยันว่าจะทำงานที่มูลนิธิฯ ต่อไป เมื่อการศึกษาเปิดกว้าง สิ่งที่จะทำให้เห็นผลได้คือ ตัวผู้รับเอง ว่าจะกอบโกยโอกาสนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด.

ข้อมูลจาก kroobannok.com อ้างอิง เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

Leave a Reply