LEC สร้างผู้นำรุ่นใหม่ ให้กล้าคิดนอกกรอบ เปลี่ยนวิธีการสอน เน้นผู้เรียนมีสุข

By | December 19, 2013 | Tweet

โครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Leadership for Education Change : LEC) ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมกระบวนการเรียนรู้ที่ 4 การสร้างนวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ โดย LEC เป็นโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาที่มาจากภาคีเครือข่ายของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็น “ผู้นำรุ่นใหม่” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการทำงานในลักษณะของ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” โดยขั้นตอนและกระบวนการเรียนรู้จะส่งผลให้มีความยั่งยืน และเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

13872633251387263343l

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบทางการศึกษาในปัจจุบันส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทยในหลายมิติ ซึ่งในแต่ละปีมีเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาไปหลายแสนคน เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการปรับตัวในการเรียน พฤติกรรมการใช้ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง ท้องในวัยเรียน ปัญหาสุขภาพ และเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาเหล่านี้นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าผู้นำไม่ได้ปรับกระบวนทัศน์ ทักษะ ภาวะผู้นำ และการทำงานแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) ที่จะสามารถพัฒนาการศึกษาในระดับโครงสร้างและระบบได้อย่างชัดเจน รวมทั้งการขาดการประสานเครือข่ายที่เข้มแข็งของผู้นำการศึกษาจากหลายภาคส่วนของสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน ในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นกลไกหลักของประเทศสู่สังคมสุขภาวะ

“การจัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในภาคส่วนต่างๆ ภายใต้คอนเซ็ปผู้นำแบบรวมหมู่ โดยให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา นำกระบวนการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ และเนื้อหาสาระของหลักสูตรไปประยุกต์ใช้เป็นรูปแบบหนึ่งในการดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากร รวมทั้งนำนวัตกรรมต้นแบบด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนที่ได้จากโครงการไปพัฒนาหลักสูตรในการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้งยังให้หน่วยงานภายในและนอกกระทรวงศึกษาธิการนำนวัตกรรมต้นแบบนี้ไปขยายผลในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้รับการพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างเสริมสุขภาพอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่สังคมสุขภาวะคนไทยที่มีความยั่งยืนตลอดไป” รศ.ดร.ประวิต กล่าว

ด้าน นายวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะจัดในรูปแบบ Problem Based Learning (PBL) ซึ่งเป็นวิธีการสอนค่อนข้างท้าทาย เพราะเป็นการศึกษาที่เน้นทักษะไม่เหมือนเดิม แต่ต้องให้ผู้เรียนมีความสุข รู้สึกมีส่วนร่วม ฉะนั้น PBL เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของแต่ละโรงเรียน เพราะเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะใหม่ซึ่งจำเป็นในอนาคต และครูในโรงเรียนทุกคนร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานจริงแล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะกระบวนการพัฒนาคนต้องใช้เครื่องมือลักษณะนี้ เพราะทำให้เด็กเข้าใจปัญหาของตนเองและแก้ไขได้ ที่สำคัญในการแก้ปัญหาก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ใช้ทักษะแบบ Multiple ซึ่งมีความหลากหลาย เกิดการบูรณาการของคนทำงาน สร้างเป็นวงจรได้ จนเกิดทักษะอื่นๆ ตามมา

“กระบวนทัศน์การทำงานแบบเก่าเริ่มใช้ไม่ได้ วันนี้จึงต้องมาร่วมกันออกแบบกระบวนการทัศน์ใหม่ โดยดึงความรู้สึกเข้ามาออกแบบด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเราละเลยฐานใหญ่อย่างความรู้สึกออกไป โดยทำทุกอย่างให้เป็นงานจนลืมความสุข เพราะเบื้องหลังการทำงานมักละเลยความรู้สึกทำให้สัมพันธภาพห่างออกไป และผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องรู้จักคำที่ใช้ในการสื่อสารด้วย เกิดคำถามว่าแล้วผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเปลี่ยนการศึกษาได้อย่างไร สิ่งหนึ่งคือความเชื่อของเราที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนใหม่ได้ ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยอยากมีโรงเรียนในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องทำสิ่งใหม่ขึ้นมาให้เห็น แต่ไม่ใช่การโจมตีหรือต่อต้าน แต่ควรผลิตกระบวนทัศน์ขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นกล้องดิจิตอล เราไม่สามารถกำหนดหรือโจมตีกล้องรุ่นเก่า หรือโปรโมทว่ากล้องดิจิตอลดีอย่างไรบ้าง แต่เราจะคิดค้นและทำให้คนเห็นคุณสมบัติของกล้อง ฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนนำการศึกษามาครอบงำ เมื่อไหร่จิตของคนเป็นอิสระจะเกิดความคิดได้อย่างดีเยี่ยม เพราะทุกครั้งที่เรามีความรู้จะยึดติดกับอำนาจและขวนขวายหาสิ่งเล้าเหล่านั้น จนเกิดเครื่องครอบงำทำให้จิตใจแคบลง” นายวิเชียร กล่าว

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

Leave a Reply