ในตอนที่แล้ว เราได้สะท้อนปัญหาการศึกษาไทย ทั้งค่านิยมของผู้ปกครองที่เปรียบเทียบไม่ว่าเด็กวิทย์กับเด็กศิลป์ หรือเด็กสายสามัญกับสายอาชีพ โดยเชื่อว่าแผนการเรียนสายสามัญแผนกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ คือคำตอบของทุกสิ่งและประกันอนาคตที่รุ่งโรจน์ของบุตรหลาน ถึงขนาดมีการประท้วงหรือฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพื่อให้รับเด็กจบ ม.3 เข้าเรียนต่อ ม.ปลาย ในโรงเรียนเดิมทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
ขณะเดียวกัน ด้วยชั่วโมงเรียนที่หนักหน่วงของเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน หรือในสถาบันกวดวิชาเพื่อหาเคล็ดลับไปทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำให้ต้องหมกมุ่นอยู่กับตำราเรียน จนไม่มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตด้านอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ตนเองต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาต่อในระดับสูง เลยไปถึงชีวิตในวัยทำงานที่ไม่มีความสุข วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังหลากหลายแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษา ให้กับเด็กๆ ที่อาจมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน
ทางเลือกที่เปิดกว้าง
“การเรียนอาชีพในโรงเรียนมัธยม มันสามารถทำได้ดีด้วย เพราะว่าเมื่อเด็กเองต้องการที่จะเรียนสายสามัญ แล้วมีช่องทางของตัวเองเมื่อจบแล้ว ออกไปประกอบอาชีพได้ หรือไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ถือเป็น Option (ทางเลือก) สำคัญที่เด็กเขาอยากเรียน”
เป็นเสียงจาก รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่กล่าวในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาครั้งที่ 4 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ถึงแผนการเรียนที่ผสมผสานกันระหว่างวิชาสามัญกับวิชาชีพ
อ.ประวิตเล่าย้อนถึงตนเองสมัยมัธยมปลาย ที่ในเวลานั้นเลือกเรียนแผนการเรียน “วิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม” แล้วรู้สึกว่ามีความสุขในการเรียนมาก เพราะเป็นแผนการเรียนที่ดูแล้ว“เท่” ในสายตาวัยรุ่นด้วยกัน เพราะเป็นแผนกเดียวที่สามารถพกพาสิ่งของบางอย่าง เช่น ไม้ทีหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในงานเขียนแบบ เนื่องจากแผนการเรียนดังกล่าว ผู้เรียนต้องได้ฝึกทักษะทั้งการเขียนแบบ การตะไบเหล็กไม่ต่างจากสายอาชีพ โดยที่ไม่ต้องเข้าไปเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาแต่อย่างใด
“หลักสูตร ม.ปลาย มันต้องเปิดช่องหลายๆ Track (ลู่ทาง) Track ที่มุ่งไปมหาลัยก็ว่าไป Track เด็กที่ต้องการมุ่งทั้งวิชาสามัญแล้วก็อาชีพด้วย ก็ต้องมีเวลา จะ 50-50 หรือ 40-60 ในการที่จะให้เขาฝึกตรงนี้ ที่สำคัญคือต้องมี Certificate (ประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ) บวกเข้าไปด้วยเวลาจบ
ที่สำคัญคือต้องทำ Pilot Project (โครงการนำร่อง) ขึ้นมา อย่าไปพูดกับโรงเรียนใหญ่ๆ ประจำจังหวัดหรืออำเภอ เน้นที่โรงเรียนตำบล เน้นมัธยมตำบล ทำร่วมกับวิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยการอาชีพที่อยู่ในพื้นที่ให้ดี โรงเรียนมัธยมไม่ต้องไปสร้างห้องแล็บอะไรมากมาย ใช้ทรัพยากรที่เป็นวิทยาลัยชุมชน หรือครูวิทยาลัยการอาชีพในพื้นที่ ซึ่งผมก็ทราบดีว่าท่านจะเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน เพราะไม่มีคนไปเรียน เพราะฉะนั้นจับมือกันให้ดีๆ กับโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ จัดหลักสูตรร่วมกัน”
นักวิชาการด้านการศึกษาจาก ม.มหาสารคาม กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบหลักสูตรการศึกษาได้เองมากขึ้น เพราะหากมองตามความเป็นจริงในบริบทสังคม เด็กในพื้นที่ชนบทย่อมมีโอกาสน้อยกว่าเด็กในเมือง ในระบบการสอบแข่งขันเข้าสู่มหาวิทยาลัย การให้ทางเลือกเช่นนี้ จะทำให้เด็กที่หลุดไปจากกระแสหลักยังมีทักษะทางอาชีพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.ประวัติ สมเป็น อาจารย์ภาควิชาเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ที่ไปสำรวจเยาวชนในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง พบว่าความยากจนและบ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน ทำให้หลายคนไม่อาจเรียนต่อในระดับสูง อย่างไรก็ตาม พบว่าหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น (Short Course) ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเรียนแล้วมีความรู้ และใช้สมัครทำงานได้จริงเพราะมีประกาศนียบัตรรับรอง หรือบางคนอาจจะเรียนเก็บวิชาไปเรื่อยๆ จนครบหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ก็ทำได้เช่นกัน
“ตอนนี้ในประเทศไทย ผมไปที่ไหนก็มีการจ้างงาน ในชนบทนี่ซ่อมแอร์ ตู้เย็น เครื่องจักรกลในไร่นา พวกนี้ขาดแคลนมาก ผมไปคุยกับอาจารย์การอาชีพ เขาบอก 7 วัน ไม่ว่างเลย เขาต้องออกฝึกอบรมตลอด เพราะว่าทุกบ้านต้องต่อไฟใช้ ทุกไร่นาต้องต่อไฟใช้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อดูสถานการณ์ขณะนี้แล้ว ถ้าจะปรับก็ปรับให้สายการงานอาชีพ เข้ามาสู่ระบบมัธยม สำคัญที่สุดคือมัธยมปลาย เกรด 10-12 (ม.4-6) มันมีความจำเป็นมาก ผมก็ตามผล ปรากฏว่าเด็กที่มาเรียน Short Course เรียนไปแล้วก็กลับไปทำงานกับนายจ้างด้วย ก็เป็นทางออกอีกอันหนึ่ง” นักวิชาการจาก ม.ราชภัฏสุรินทร์ กล่าว
‘สายอาชีพ’ ก็ต้องส่งเสริม
นอกจากประเด็นทางเลือก กรณีหลักสูตรผสมระหว่างสายสามัญกับวิชาชีพแล้ว ในส่วนของสายอาชีวศึกษาจริงๆ ก็ต้องได้รับการส่งเสริมเช่นกัน โดย อ.ประวัติตั้งข้อสังเกตถึงคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างกัน ระหว่างวิศวกรที่มาจากสายสามัญ กับที่มาจากสายอาชีพ
“อีกประเด็นที่น่าสนใจ ผมเฝ้าสังเกตนะ วิศวกรที่มาจากสายอาชีพกับวิศวกรที่มาจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เวลาเขาทำงาน พวก
ที่จบ ม.3 ไปเข้าวิทยาลัยเทคนิค ไต่ขึ้นมาจนจบปริญญาตรี ปริญญาโท พวกนี้จะทำงานแบบหนึ่ง แต่ถ้าจบจากมหาวิทยาลัยตรง จะมี Style (แนวทาง) อีกแบบหนึ่ง คล้ายๆ จะเป็น Boss (เจ้านาย) มากขึ้น
ประเทศที่ผมทึ่งมากในด้านวิศวกรรมคือเกาหลี วิศวกรของเขามันคล้ายๆ วิศวกรที่จบปริญญาอาชีวะบ้านเรา พวกนี้กึ่งบริหาร กึ่งลงไปปฏิบัติด้วย มันเลยกลายเป็นว่าProductivity (ผลผลิต) ที่เกิดขึ้นจากแนวนี้มันดีกว่า” อ.ประวัติเล่าถึงประสบการณ์ที่ไปดูงานในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้บ้านเราจะมีสถาบันอาชีวศึกษาหลายแห่งที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาออกไปประกอบอาชีพ แต่ก็พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ค่อยกล้าส่งบุตรหลานเข้าเรียน ซึ่งเหตุผลหลักคือภาพลักษณ์ของวงการอาชีวศึกษา ที่เต็มไปด้วยการตีรันฟันแทง ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า..คนเรียนอาชีวะ ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่กับยมบาล (เสี่ยงตายเพราะถูกคู่อริต่างสถาบันทำร้าย) และอีกครึ่งหนึ่งอยู่กับกรมราชทัณฑ์ (เสี่ยงติดคุกเพราะไปทำร้ายคู่อริต่างสถาบัน)
ในประเด็นดังกล่าว นางวิภา เกตุเทพา อาจารย์ฝ่ายแนะแนว โรงเรียนสตรีวิทยา 2 มองว่าแม้เหตุรุนแรงในหมู่สถาบันอาชีวศึกษาจะมีอยู่จริง แต่เป็นเพียงส่วนน้อยหากเทียบกับเด็กจำนวนมากที่สามารถเรียนจนจบออกมาประกอบอาชีพได้ และตั้งข้อสังเกตว่า สื่อมวลชนมักจะมุ่งเสนอเฉพาะในด้านร้ายๆ ของสายอาชีวศึกษา ทำให้เด็กและผู้ปกครองพลอยเข้าใจไปในทางเดียวว่า เรียนสายอาชีพแล้วมีแต่เป็นนักเลงอันธพาล ไม่มีอนาคตในสังคม
“อย่างนักข่าวออกข่าว พอเรื่องนี้เกิดขึ้น โหมขายข่าวได้หลายวันหลายหน้า มันก็เป็นส่วนหนึ่ง อย่างกระดาษแผ่นหนึ่ง จุดดำ 1 จุด เอ้าพี่ให้ 2 จุดเลย ดำคือนักเรียนตีกัน พอสื่อโหมสื่อออก เอาล่ะพี่กำลังพาโรงเรียนนี้มาจัดนิทรรศการในโรงเรียน เด็กไม่ไปเลย เด็กไม่เอาโรงเรียนนี้มันฆ่ากันตาย แต่ปรากฏว่าจุดขาวๆ เต็มหน้ากระดาษ เป็นความงอกงามของอาชีวะ มันไม่ได้ถูกขาย ตรงนี้มันทำให้เกิดค่านิยมลบ แล้วพี่จะบอกให้ ไม่ใช่ว่าเด็กขาสั้น (สายสามัญ) จะไม่ตีกัน เด็กขาสั้นมันก็ตี แต่มันไม่ได้ออกไป (ทางสื่อ) คนก็เลยไปใส่ใจเด็กขายาว (สายอาชีพ)”
นอกจากบทบาทสื่อแล้ว อ.วิภา ยังฝากไปถึงผู้ปกครอง ขอให้ฟังเสียงลูกหลานของท่าน ว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเขาอยากเรียนอะไร และส่งเสริมให้เรียนในสายที่ชอบที่ถนัด อย่าพยายามฝืนให้เรียนในสายที่ไม่ใช่ตัวตนของเขา เพราะถึงจบมาได้ ผลการเรียนก็มักจะไม่ดี และโอกาสที่จะได้งานทำในสาขานั้นๆ ก็จะเป็นไปได้ยาก ซึ่งปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือเด็กเหล่านี้จะเกิดความรู้สึกท้อแท้ และมองตนเองว่าไร้คุณค่า เนื่องจากไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต
“มีเด็กที่ไป (สายอาชีพ) แล้วกลับมา บอกว่าขอบคุณ..หนูไม่เคยได้เกรด 4 เลย ก็ไปได้ที่นั่น ขอบคุณ..หนูไม่เคยคิดเลยว่าหนูจะอยู่ในสังคมได้ แต่อาชีวะทำให้หนูได้.. แต่เด็กพวกนั้นไปแบบว่าเป็นที่ไม่ต้องการแล้ว คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ของโรงเรียนจึงต้องหลุด” อ.วิภา ยกตัวอย่างทิ้งท้าย ว่าด้วยเด็กที่ถึงจะหลุดไปจากสายสามัญ แต่กลับไปได้ดีในสายอาชีพ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้นมา ซึ่งนั่นถือเป็นความสุขที่สุดประการหนึ่งของมนุษย์
ปัญหาการศึกษาไทย แม้จะพูดกันกี่ครั้ง ประชุมกันกี่หน สิ่งที่แก้ได้ยากที่สุด คือค่านิยมที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ว่าหนทางสู่การประสบความสำเร็จในชิวิต คือต้องเรียน ม.ปลาย สายวิทย์-คณิตเท่านั้น ส่วนสายอื่นๆ ถือว่าเป็นประชากรในระดับที่ต่ำลงไป
ทำให้เด็กส่วนใหญ่หมดเวลาไปกับการเรียนจนไม่ได้รับรู้แง่มุมอื่นๆ ของชีวิต นอกจากนี้ ด้วยที่นั่งในการสอบแข่งขันกระแสหลักมีจำกัด ส่งผลให้เด็กที่พลาดหวัง อาจจะต้องเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ในระดับ ม.ปลาย สายสามัญ เพราะวิชาที่เรียนมาไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพอะไรได้ เมื่อเทียบกับคนที่จบในระดับ ปวช. สายอาชีพ
อนึ่ง..มีความพยายามจากหลายภาคส่วน ในการทดลองทำหลักสูตรผสมผสานระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ โดยเริ่มจากโรงเรียนในชนบท เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองในท้องถิ่นได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การที่สามารถมีรายได้ยั่งยืนในท้องถิ่น ก็จะไม่ต้องถูกบีบให้เข้ามาแก่งแย่งกันในสังคมเมืองใหญ่ ซึ่งในระยะยาวจะสามารถลดค่าครองชีพและไม่ต้องทอดทิ้งครอบครัว จนเกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
แต่จะสำเร็จได้หรือไม่? คงต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐต้องจริงจัง และเปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่นๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น