นางดอริส โกลด์ วิบูลย์ศิลป์ อดีต ผอ.บริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 เรื่อง “การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ : ประสบการณ์ต่างประเทศ” ที่สนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ว่า อยู่เมืองไทยมานานกว่า 50 ปี
โดยแรกเริ่มเข้ามาทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ในชนบท พบว่าความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนสมัยนี้ย่ำแย่กว่าในอดีต ขณะที่สื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งขยายความย่ำแย่เข้าไปอีก เพราะใช้ภาษาอังกฤษที่ผิดไวยากรณ์ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายด้านภาษาต่างประเทศให้ชัดเจน ไม่ใช่แบบอดีตที่ใครมาเป็นรัฐมนตรีก็จะกำหนดนโยบายในระยะสั้นๆ ไม่เอาจริงเอาจัง เพราะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน
ด้านนายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาภาษาอังกฤษของประเทศไทย ไม่ถึงกับเลวร้ายหรือผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไป แล้วจะให้ ศธ.ยึดนโยบาย หรือหลักสูตร รูปแบบเดิมๆ รวมทั้งเรื่องของครู สื่อการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล เหมือนบางประเทศซึ่งมีนโยบายระยะยาว 10-12 ปี คงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามยอมรับและเห็นด้วยที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ภาษาอังกฤษดีขึ้นกว่าเดิม
“เรื่องของบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่จะนำภาษาอังกฤษไปใช้ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญ คนไทยหรือเด็กไทยเมื่อเรียนภาษาอังกฤษแล้ว การจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การฟังและพูดยังน้อยกว่าการอ่านและเขียน แต่พออยู่ต่างประเทศจะช้าจะเร็วก็พูดและฟังได้ ฉะนั้นสภาพแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้ ซึ่งจุดนี้ผมมองว่าสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อโซเชี่ยลมีเดีย สามารถช่วยให้คนไทยและเด็กไทยคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี” ที่ปรึกษาฯ กพฐ.กล่าว
ที่มา–ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 พ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น